“ดีเอสไอ” เผยพบเช็คอีก 7 ฉบับ เป็นเงินกว่า 400 ล้านบาท ที่ “ศุภชัย” สั่งจ่ายไปให้ “ธัมมชโย-วัดพระธรรมกาย” ส่วนเรื่องหมายจับ “บิ๊กต๊อก” ขอใจเย็นมีทางออกปม “ธัมมชโย” กรณี “เจ้าสัวบุญชัย” ต้องดูเข้าข่ายความผิดกฎหมายข้อไหน เชื่อสังคมมองออกเล่นเกมจิตวิทยาท้าทายอำนาจรัฐ พร้อมดึง พศ.ร่วมแก้ปัญหา ขณะที่ “บิ๊กป้อม” ติงสื่อฟังให้ชัดไม่เคยอุ้ม “เจ้าสัวบุญชัย” ด้าน “ลีลาวดี” ศิษย์วัดพระธรรมกายขอดีเอสไออย่าเร่งรัดบุกจับ ยัน “ธัมมชโย” ป่วยจริง หนุน “เจ้าสัวบุญชัย” ปลุกปกป้องธัมมชโย ขณะเดียวกัน “โฆษกวัดพระธรรมกาย” นัดสื่อตรวจหาสิ่งผิดกฎหมายในวัด
กรณีนายบุญชัย เบญจรงคกุล หรือเจ้าสัวบุญชัย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ดีเอ็มซี วัดพระธรรมกาย เชิญชวนศิษยานุศิษย์มาปฏิบัติธรรมที่วัด เชื่อพลังคนนับล้านจะสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อน หลังเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตำรวจและฝ่ายปกครองนำหมายค้นเข้าวัดพระธรรมกายเพื่อจับกุมพระเทพญาณมหามุนี หรือธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร หลังรับเงินบริจาคจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ แต่ไม่สำเร็จ โดยที่ดีเอสไอเตรียมจ่อขอหมายค้นอีกครั้ง
ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 21 มิ.ย. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงทางออกกรณีธัมมชโยว่า ใจเย็นๆ มีทางออกแน่ ส่วนกรณีข่าวดีเอสไอจะตรวจสอบพฤติกรรมนายบุญชัย เบญจรงคกุล หรือเจ้าสัวบุญชัย หลังออกมาเชิญชวนศิษยานุศิษย์ให้ได้นับล้านคน ร่วมปฏิบัติธรรมแผ่เมตตาปกป้องธัมมชโยต้องดูก่อนเข้าข่ายผิดข้อกฎหมายไหน การนำคลิปเสียงมาเผยแพร่ใช้ใน เชิงจิตวิทยา ในแง่กฎหมายต้องมีหลักฐานครบถ้วน พฤติกรรมตอบเจตนาได้ เมื่อถามว่า เป็นการเอากฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ท้าทายอำนาจรัฐหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ตอบว่า นั่นนะซิ สังคมส่วนหนึ่งก็คิดแบบนี้ เมื่อถามว่า จำเป็นต้องให้คณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าไปอายัดทรัพย์ก่อนหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ฝ่ายที่เกี่ยวข้องคุยกับ ปปง.แล้ว นอกจากนี้ ยังได้หารือกับนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ผอ.สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) แล้วให้ช่วยลงมาดูแลตรงนี้ด้วย รวมทั้งดีเอสไอยังมีอำนาจขอหมายค้นได้ แม้เรื่องอยู่ที่อัยการแล้ว
ขณะที่นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เผยว่า นายบุญชัย เบญจรงคกุล เป็นกรรมการของบริษัทฯ ถูกเลือกให้ทำหน้าที่ประธานกรรมการเท่านั้น ไม่ได้เข้ามาบริหารกิจการหรือดูแลด้านการเงิน นอกจากนี้ ดีแทคยังเป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและหลักบรรษัทภิบาลของตลาดหลักทรัพย์ฯและองค์กรตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยดีแทคไม่มีนโยบายที่จะให้การสนับสนุนด้านการเงินหรือด้านใดๆแก่กลุ่มบุคคลใดเป็นพิเศษ และจะบริจาคเงินหรือสิ่งของการกุศลเฉพาะเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวมเท่านั้น และการบริจาคเงินหรือสิ่งของ จะต้องผ่านคณะทำงาน ที่แต่งตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบถึงประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมก่อนการอนุมัติ ไม่มีวัตถุประสงค์เอนเอียง ฝักใฝ่การเมือง หรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง และไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความเชื่อใดๆของแต่ละบุคคล
ส่วน น.ส.ลีลาวดี วัชโรบล อดีต ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะศิษย์วัดพระธรรมกาย กล่าวถึงกรณีดีเอสไอเตรียมบุกจับธัมมชโยอีกครั้งว่า ธัมมชโยอาพาธจริงกว่า 8 เดือนแล้ว รวมทั้งคณะแพทย์ที่รักษาขอเวลารักษา 3 เดือน และท่านยังจำวัดอยู่ คณะศิษย์จึงอยากให้ชะลอกระบวนการทางกฎหมายออกไปก่อน เพื่อให้หายอาพาธก่อน ส่วนกรณีหญิงสาวที่ปิดผ้าคาดปาก อ่านแถลงการณ์ธัมมชโยจะมอบตัวต่อเมื่อบ้านเมืองมีประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้น ไม่มีใครรู้จักเพราะมีผ้าคาดปาก เมื่อถามว่านายบุญชัย เบญจรงคกุล เรียกร้องให้คนออกมาปกป้องหลวงพ่อมากๆ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ น.ส.ลีลาวดีกล่าวว่า พวกเราชื่นชมสิ่งที่ทำ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ได้ไปยั่วยุฝ่ายตรงข้าม
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีนายบุญชัย เบญจรงคกุล นักธุรกิจชื่อดัง เชิญชวนให้ลูกศิษย์วัดพระธรรมกายมาร่วมนั่งสมาธิที่วัดว่า กรณีนี้ต้องแยกแยะ หากเชิญชวนคนมาสวดมนต์ไม่ถือว่ามีความผิด แต่หากเชิญชวนคนมาขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ถือว่ามีความผิด เมื่อวาน (20 มิ.ย.) ตนบอกไปแบบนี้ แต่สื่อนำไปเขียนคนละเรื่องจึงอยากให้สื่อฟังให้ชัด
ส่วนบรรยากาศที่ห้องแก้วสารพัดนึก สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ยังคงมีประชาชนประมาณ 2,000 คน ปักหลักปฏิบัติธรรมกันอย่างต่อเนื่อง ที่สำนักสื่อสารองค์กร มีสื่อมวลชนมาคอยทำข่าว โดยหวังว่าจะมีการแถลงการณ์ เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของทางวัด แต่ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ
ด้านนายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์ วัดพระธรรมกาย แจ้งในไลน์ News วัดพระธรรมกาย ถึงสื่อมวลชนว่า เรียนพี่น้องสื่อมวลชนที่เคารพ เนื่องด้วยมีข่าวออกมาไม่นานนี้ทำนองว่าภายในวัดพระธรรมกายอาจมีสิ่งผิดกฎหมาย หรืออุปกรณ์ต่างๆที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ดังนั้น ในวันพฤหัสบดี 23 มิ.ย.59 เวลา 13.00 น. ขอเรียนเชิญทุกท่านลงทะเบียนพร้อมกันที่สำนักสื่อสารองค์กร จากนั้นจะพาเข้าเยี่ยมชมในบริเวณพื้นที่ภายในอุโบสถวัดพระธรรมกายโดยพร้อมเพรียงกัน
ขณะที่ความเคลื่อนไหวอีกด้าน นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการประสานพระราชวิสุทธิเวที (สายชล ฐานวุฑโฒ) เจ้าคณะภาค 1 วัดชนะสงคราม และสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดพิชยญาติการาม เพื่อขอคำปรึกษาดำเนินการกรณีธัมมชโย ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงาน เพื่อกำหนดวัน เวลาการเข้าหารือว่าเจ้าคณะภาค 1 และเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ท่านสะดวกวัน เวลาใด ส่วนกรณีที่ดีเอสไอออกมาระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในวัดพระธรรมกาย เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์หรือไม่ และขอให้ พศ.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่รวมทั้งออกมาตอบคำถามกับสังคมนั้น ตนจะขอดูในรายละเอียดข้อเท็จจริงอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร โดย พศ.ขอยืนยันว่าให้ความร่วมมือกับดีเอสไอมาตลอด
ส่วนนายบรรจบ บรรณรุจิ ภาคีสมาชิกราชบัณฑิต แห่งราชบัณฑิตยสถาน และนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนากล่าวว่า กรณีของธัมมชโย ต้องเข้าใจด้วยว่า ผู้ที่เป็นพระสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย3ฉบับ คือกฎหมายทางโลก กฎหมายคณะสงฆ์ และพระธรรมวินัย หากเอากฎหมายทางโลกมาจับเพียงอย่างเดียวสามารถทำได้บางกรณีเท่านั้น เช่น การที่พระสงฆ์ไปฆ่าคนตาย เป็นต้น แต่กรณีของธัมมชโยที่ออกมากล่าวหาว่าอาบัติปาราชิกไปแล้ว เพราะมีความผิดฐานลักทรัพย์ หากนำไปพิจารณาด้านพระธรรมวินัยยังไม่สามารถตัดสินได้อย่างชัดเจน เพราะการอาบัติปาราชิกของพระสงฆ์ ข้อหาลักทรัพย์นั้นมีเงื่อนไขหลายข้อ หากขาดไปข้อใดข้อหนึ่งก็จะไม่เข้าเกณฑ์ จึงอยากให้คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม (มส.) นำเรื่องนี้ไปพิจารณาแล้วตั้งคณะพระวินัยธรขึ้นมาเพื่อพิจารณาความผิดตามพระธรรมวินัย เพื่อคลายความสงสัยของสังคม ส่วนเรื่องคดีทางโลกก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองดำเนินการ
เช้าวันเดียวกันที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายประกิต พิลังกาสา ประธานกรรมการบริหารลูกหนี้ และผู้ทำแผนฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น พร้อมคณะผู้บริหารสหกรณ์ฯคลองจั่น เข้าพบ พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ และ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผบ.สำนักคดีการเงินการธนาคาร ดีเอสไอ เพื่อสอบถามความคืบหน้าคดียักยอกเงินสหกรณ์ฯคลองจั่น เนื่องจากทราบว่าพนักงานสอบสวนพบหลักฐานใหม่เพิ่มเติมว่าเครือข่ายวัดพระธรรมกายยักยอกเงินสหกรณ์ฯคลองจั่นเพิ่มอีกกว่า 400 ล้านบาท
ด้าน พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผบ.สำนักคดีการเงินการธนาคาร ดีเอสไอ เผยว่า ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนดีเอสไอพบมีเช็คสั่งจ่ายเงินสหกรณ์ฯคลองจั่นไปยังกลุ่มวัดพระธรรมกาย พระลูกวัดรวมถึงธัมมชโย จำนวน 20 ฉบับ เป็นเงิน 1,054 ล้านบาท ต่อมากลุ่มลูกศิษย์วัดพระธรรมกายได้ทำสัญญาประนอมความกับสหกรณ์ฯคลองจั่นโดยจ่ายเงินคืนให้ 1,054 ล้านบาท แบ่งชำระเป็นเช็คก้อนแรก 684 ล้านบาท เมื่อปลายปี 58 ส่วนอีกก้อน 370 ล้านบาท สั่งจ่ายเช็คเดือนละ 20 ล้าน จำนวน 18 เดือน จะครบประมาณปี 60
“ล่าสุดดีเอสไอตรวจสอบพบนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯคลองจั่น มีการสั่งจ่ายเช็คเงินจากสหกรณ์ฯคลองจั่นไปยังวัดพระธรรมกาย พระธัมมชโย และพระวัดพระธรรมกายอีก 7 ฉบับ จำนวน 404 ล้านบาท เท่ากับว่าปัจจุบันมีเช็คสั่งจ่ายจากสหกรณ์ฯคลองจั่นไปยังวัดพระธรรม–กายรวมแล้ว 27 ฉบับ เป็นเงิน 1,458 ล้านบาท (1,054+404=1,458) นอกจากนี้ ยังมีเช็คสั่งจ่ายไปยัง น.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ ผู้ต้องหาอีกรายหนึ่งที่หลบหนีไปต่างประเทศ อีก 33 ล้านบาท” พ.ต.ท.ปกรณ์กล่าว
พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ส่วนกรณีวัดพระธรรมกายอ้างว่าเป็นเงินที่ได้จากการบริจาคมาตลอด แต่ในพฤติการณ์ต่างๆที่ดีเอสไอได้ดำเนินการสอบสวนและตรวจสอบมาทำให้เชื่อว่ามีการกระทำผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน พร้อมมีหลักฐานเพียงพอที่จะสามารถสั่งฟ้องในคดีนี้ได้ ส่วนรายละเอียดขออนุญาตไม่เปิดเผย เนื่องจากเป็นเรื่องในสำนวน ดังนั้น จึงต้องรอในวันที่ 13 ก.ค.น
ที่มา http://www.thairath.co.th